จดหมายเปิดผนึก เรื่อง ขอให้มหาวิทยาลัยทบทวนนโยบายให้นักศึกษาชั้นปีที่ 2 ขึ้นไปใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าเท่านั้น

อัพเดท : 15 มิถุนายน 2566 เวลา 21.20
จากสถานการณ์ที่สภานักศึกษา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้เผยแพร่จดหมายเปิดผนึกผ่านสื่อช่องทางออนไลน์เกี่ยวกับนโยบายให้นักศึกษาชั้นปีที่ 2 ขึ้นไปใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าเท่านั้น ส่งผลให้เกิดความเข้าใจผิดในวงกว้างและมีผลกระทบต่อมหาวิทยาลัย ซึ่งการใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า หรือรถจักรยานไฟฟ้าจะมีความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สิน และประหยัดพลังงาน อีกทั้งสอดคล้องกับการพัฒนามหาวิทยาลัยให้เป็นมหาวิทยาลัยสีเขียวอย่างยั่งยืน ดังนั้น เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง ส่วนส่งเสริมและพัฒนานักศึกษาจึงขอชี้แจงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง ดังนี้
-เพื่อส่งเสริมการใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าและรถจักรยานไฟฟ้า มหาวิทยาลัยจะดำเนินการติดตั้งจุดชาร์จไฟบริการที่ครอบคลุมและทั่วถึง แต่อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีประกาศบังคับใช้ ยังคงเป็นเพียงการรณรงค์เป็นพลังงานทางเลือกเพื่อสนองนโยบายลดโลกร้อนและส่งเสริมให้เป็นมหาวิทยาลัยสีเขียว
ดังนั้น ในปี 2567 จะให้ใช้ได้ แต่ยังเป็นเพียงการขอความร่วมมือ ร่วมรณรงค์ และเป็นทางเลือกให้แก่นักศึกษา
-นักศึกษาชั้นปีที่ 2 ขึ้นไปที่มีใบอนุญาตขับขี่ ผ่านการอบรมวินัยจราจร ยังสามารถขึ้นทะเบียนเพื่อขออนุญาตใช้รถภายในมหาวิทยาลัยได้ตามปกติ
ดังนั้น จึงขอเรียนแจ้งให้ทราบข้อเท็จจริงโดยทั่วกัน
ส่วนส่งเสริมและพัฒนานักศึกษา
15 มิถุนายน 2566 เวลา 21.20

จดหมายเปิดผนึก
เรื่อง ขอให้มหาวิทยาลัยทบทวนนโยบายให้นักศึกษาชั้นปีที่ 2 ขึ้นไปใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าเท่านั้น

ตามที่สภานักศึกษา และองค์การบริหารนักศึกษา ในนามขององค์การนักศึกษา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้ทราบว่ามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์มีนโยบายโดยท่านอธิการบดี ที่จะอนุญาตให้นักศึกษาชั้นปีที่ 2 ขึ้นไป ซึ่งได้รับอนุญาตให้ใช้รถจักรยานยนต์ในมหาวิทยาลัยได้ ต้องใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าเท่านั้น จึงจะสามารถยื่นขออนุญาตใช้รถจักรยานยนต์ในมหาวิทยาลัยได้ โดยจะออกประกาศมหาวิทยาลัยให้บังคับใช้โดยทันทีนั้น
องค์การนักศึกษา ได้รับทราบข้อมูลความเดือดร้อนของเพื่อนนักศึกษา และได้ศึกษาข้อมูลรวมถึงผลกระทบอันอาจเกิดขึ้นกับนักศึกษาจากการบังคับใช้ระเบียบดังกล่าวโดยทันที โดยมีรายละเอียด ดังนี้

 

    1. การบังคับใช้ประกาศโดยทันที โดยไม่มีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ส่งผลกระทบต่อนักศึกษากลุ่มต่าง ๆ ดังนี้
      1.1. นักศึกษาที่นำรถจักรยานยนต์เก่าที่มีอยู่แล้วมาใช้ โดยนักศึกษากลุ่มนี้ ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาที่มีฐานะปานกลางไปจนถึงยากจน เมื่อขึ้นชั้นปีที่ 2 ในปีการศึกษา 2566 นักศึกษาจำนวน 2,200 คนโดยประมาณ มีความจำเป็นต้องออกไปอยู่หอพักภายนอกเป็นครั้งแรก โดยหอพักที่นักศึกษาพักอาศัยนั้น จากการสำรวจข้อมูลเบื้องต้น พบว่ากระจายอยู่ทั้งบริเวณหน้ามหาวิทยาลัย และไกลไปจนถึงในเขตเทศบาลตำบลท่าศาลา รวมถึงหลังมหาวิทยาลัย (เนื่องจากหอพักหน้ามหาวิทยาลัยเต็มทุกหอพัก) ด้วยภาระค่าหอพักและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่เพิ่มมากขึ้นจากการต้องออกไปอยู่หอพักภายนอก ทำให้นักศึกษาต้องประหยัดโดยการนำรถจักรยานยนต์ของที่บ้านมาใช้ โดยบางคนเป็นรถที่ใช้ขับขี่ไปเรียนอยู่แล้วตั้งแต่มัธยม หรือบางคนเป็นรถที่ครอบครัวเสียสละมาให้ใช้ด้วยเห็นความจำเป็นในการเดินทางไปเรียนของบุตรหลาน โดยในช่วงก่อนปิดภาคเรียน นักศึกษาส่วนหนึ่งได้เข้าร่วมการอบรมวินัยจราจรซึ่งจัดโดยมหาวิทยาลัย และในช่วงก่อนเปิดภาคเรียน นักศึกษาที่ยังไม่มีใบขับขี่ ก็ได้ไปดำเนินการสอบใบขับขี่ เพื่อให้เป็นไปตามระเบียบของมหาวิทยาลัยในการขึ้นทะเบียนรถจักรยานยนต์อย่างถูกต้อง ในการที่มหาวิทยาลัยจะบังคับใช้โดยทันทีให้ใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้านั้น ส่งผลกระทบต่อครอบครัวของนักศึกษาเป็นอย่างมากเนื่องจากต้องใช้เงินซื้อรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าใหม่ ในราคา 47,000 – 90,000 บาท (หากผ่อนชำระราคาจะสูงขึ้นไปอีก) จึงจะเป็นรถที่จดทะเบียนกับกรมขนส่งทางบกและมีสิทธิได้รับความคุ้มครองตาม พรบ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถได้ ซึ่งส่งผลกระทบต่อหลายครอบครัวที่มีฐานะปานกลางหรือยากจนและนักศึกษาหลายคนก็ยังต้องกู้ยืมเงินกองทุนเพื่อการศึกษาเพื่อเรียนอยู่
      1.2. นักศึกษาที่ซื้อรถจักรยานยนต์ใหม่ในช่วงปิดเทอมมาแล้ว เพื่อเตรียมตัวนำมาใช้ช่วงเปิดเทอม ไม่สามารถนำรถมาใช้ได้ ในช่วงก่อนปิดภาคเรียนที่ 3/2565 เมื่อนักศึกษาทราบว่าต้องออกไปอยู่หอพักภายนอกเนื่องจากหอพักภายในเต็ม และได้มีการจองหอพักไว้แล้ว ในช่วงปิดเทอม นักศึกษาที่ครอบครัวมีความสามารถทางด้านการเงิน ก็ได้เตรียมตัวในการออกไปพักอาศัยอยู่หอพักภายนอกแล้ว โดยผู้ปกครองได้ซื้อรถจักรยานยนต์ให้ใหม่ เนื่องจากผู้ปกครองกังวลว่าหากเป็นรถเก่า จะทำให้เกิดความยุ่งยากในการดูแลรักษาเนื่องจากนักศึกษาไม่มีความรู้เรื่องการดูแลรถ โดยได้ซื้อไปตั้งแต่ช่วงก่อนเปิดเทอม เพื่อให้บุตรหลานของตนเองได้ทดลองขับขี่ และให้สามารถนำมาใช้ได้ทันทีเมื่อเปิดเทอม การบังคับให้ใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าโดยทันที ย่อมส่งผลกระทบต่อผู้ปกครองที่ได้เตรียมรถไว้แล้วที่จะไม่สามารถนำรถมาใช้ได้

    1. ความพร้อมของการใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าของนักศึกษา
      2.1 ร้านจัดจำหน่าย ปัจจุบันรถจักรยานยนต์ไฟฟ้ายังเป็นสิ่งใหม่และยังได้รับการยอมรับน้อย ทั้งในแง่ของยี่ห้อ(ส่วนใหญ่จากประเทศจีน) ผู้จัดจำหน่ายที่ไม่ได้มาตรฐานและไม่มีจุดจำหน่ายโดยทั่วไปต้องสั่งออนไลน์หรือข้ามจังหวัดไปซื้อ ศูนย์บริการที่ไม่มีโดยทั่วไป ผู้ปกครองและนักศึกษาไม่สามารถหาซื้อมาใช้โดยสะดวกและไม่สามารถนำรถเข้าศูนย์บริการในพื้นที่โดยรอบของมหาวิทยาลัยได้ จากการหาข้อมูลรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า พบว่ามีความหลากหลายของยี่ห้อและผู้จัดจำหน่ายหลายรายเป็นเพียงบริษัทเล็ก ๆ ขาดความน่าเชื่อถือในระยะยาว และหลายยี่ห้อมีข้อมูลไม่ครบถ้วน บริษัทอยู่ในกรุงเทพและจังหวัดใหญ่เท่านั้น และยังต้องสั่งซื้อโดยช่องทางออนไลน์ หรือบางยี่ห้อ 1 จังหวัดมีผู้จัดจำหน่ายเพียง 1 ร้านเท่านั้น การหาซื้อมาใช้ การศึกษาหาข้อมูลก่อนใช้งาน ยังเป็นเรื่องที่ยากลำบากและไม่น่าไว้วางใจพอที่จะนำมาใช้งานได้ ยกตัวอย่างชัดเจน รถจักรยานยนต์ไฟฟ้ายี่ห้อ เอช เซม รุ่น CIAO จำนวน 10 คัน ที่ศูนย์รักษาความปลอดภัยของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ สั่งซื้อมาใช้งานนั้น พบว่าตัวแทนจำหน่ายในภาคใต้มีเพียง 3 แห่งคือ จังหวัดกระบี่ สงขลา และสุราษฎร์ธานี โดยไม่ชัดเจนว่าศูนย์บริการในกรณีรถจำเป็นต้องซ่อมบำรุงมีอยู่ในจังหวัดใดบ้าง เป็นต้น
      2.2 ร้านซ่อมรถจักรยานยนต์ทั่วไปยังซ่อมรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าไม่ได้ อะไหล่ยังเป็นอะไหล่เฉพาะยี่ห้อที่ยังหาไม่ได้โดยทั่วไป แม้แต่อะไหล่ทั่วไปเช่น ล้อหรือยางใน ก็ยังมีขนาดที่หลากหลายไปในแต่ละยี่ห้อ ไม่นับรวมถึงอะไหล่เฉพาะต่าง ๆ ที่ไม่สามารถหาซื้อได้ทั่วไปหรือหาซื้อได้ทันที ช่างซ่อมร้านทั่วไปยังไม่มีความสามารถในการซ่อมบำรุง และไม่มีศูนย์บริการในพื้นที่มหาวิทยาลัย จากการสำรวจพบเพียง 1 ร้านในอำเภอท่าศาลาและยังรับซ่อมเฉพาะยี่ห้อที่ร้านตัวเองจำหน่ายอีกด้วย
      2.3 จุดชาร์จ เนื่องจากข้อมูลปัจจุบันพบว่า เฉพาะนักศึกษาชั้นปีที่ 2 ซึ่งส่วนใหญ่ต้องออกไปอยู่หอพักภายนอกเป็นครั้งแรก จำนวนประมาณ 2,200 คน ซึ่งกระจายอยู่ทั้งหน้ามหาวิทยาลัยและในเทศบาลตำบลท่าศาลา โดยที่พักอาศัย มีทั้งเป็นหอพักหลายชั้น คอนโดมิเนียม อพาร์ทเมนต์ อาคารพาณิชย์ ห้องเช่า บ้านเป็นหลัง ซึ่งทั้งหมดนี้ยังไม่พบว่ามีจุดชาร์จรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าแต่อย่างใด ทำให้นักศึกษากลุ่มนี้ไม่สามารถนำรถจักรยานยนต์ไฟฟ้ามาใช้ได้ แม้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าบางยี่ห้อจะสามารถถอดแบตเตอรี่ออกไปชาร์จได้ แต่การหิ้วแบตเตอรี่ที่มีน้ำหนักหลายกิโลกรัมขึ้นหอพักไปชาร์จและนำมาติดตั้งก็ยังเป็นเรื่องยุ่งยากและไม่สะดวกสำหรับนักศึกษายิ่งโดยเฉพาะกับนักศึกษาหญิงที่ไม่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องเครื่องยนต์กลไกแล้ว ยิ่งเป็นเรื่องที่ลำบากมาก หรือหากแบตเตอรี่หมดกลางทางยิ่งเป็นเรื่องที่ทำให้เกิดความยุ่งยากในการใช้งานอย่างมากเพราะต้องนำรถกลับไปชาร์จที่จุดชาร์จเท่านั้น
      ในกรณีที่มหาวิทยาลัยจะสร้างจุดชาร์จในบริเวณหอพักนักศึกษานั้น สามารถตอบสนองการใช้งานได้เฉพาะนักศึกษาชั้นปีที่ 2 ขึ้นไปที่พักอาศัยอยู่ในหอพักของมหาวิทยาลัย ซึ่งยังเป็นส่วนน้อยเมื่อเทียบกับจำนวนนักศึกษาทั้งหมดที่จำเป็นต้องออกไปอยู่หอพักภายนอก และนักศึกษาหอพักก็มีรถไฟฟ้าของมหาวิทยาลัยที่ให้บริการอยู่แล้ว การสร้างจุดชาร์จในบริเวณหอพักจึงไม่ตรงกับผู้ใช้งานที่มีความจำเป็นมากกว่าที่เป็นนักศึกษาหอพักภายนอก และจากข้อมูลรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าโดยทั่วไป ต้องใช้เวลาประมาณ 2 – 3 ชั่วโมงต่อการชาร์จเต็ม 1 ครั้ง ในกรณีติดตั้งอุปกรณ์การชาร์จแบบชาร์จเร็ว หรือ 5 – 6 ชั่วโมงในกรณีที่เป็นการชาร์จแบบทั่วไป (แตกต่างกันไปตามราคารถ ยี่ห้อ ประเภทและจำนวนแบตเตอรี่ และประสิทธิภาพรถ) เมื่อดูจากระยะเวลาแล้ว ต้องมีจุดชาร์จจำนวนมากหากต้องการที่จะรองรับการใช้งานของนักศึกษาหอพัก เนื่องจากนักศึกษาจะมีเวลาชาร์จในช่วงเย็น – เช้า ที่อยู่ที่หอพักเท่านั้น ซึ่งในปัจจุบันทราบว่ายังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาข้อมูลเพื่อเตรียมการสร้างจุดชาร์จในบางหอพักเท่านั้น หากบังคับใช้โดยทันที เท่ากับว่าเป็นการสร้างปัญหาเพิ่มเติมให้เกิดขึ้นจากประกาศนี้
      2.4 ราคารถจักรยานยนต์ไฟฟ้า โดยรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าที่จดทะเบียนได้ตามมาตรฐานของกรมการขนส่งทางบกส่วนใหญ่จะยังมีราคาที่แพงมาก (45,000 – 100,000 บาท) และหลายยี่ห้อที่จัดจำหน่ายทางออนไลน์เนื่องจากไม่มีผู้จัดจำหน่ายโดยทั่วไป หลายยี่ห้อยังบอกรายละเอียดไม่ชัดเจนว่าจะสามารถจดทะเบียนได้หรือไม่ หากนักศึกษาซื้อและนำมาใช้ ในกรณีเป็นรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าที่ไม่สามารถจดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบกได้ ก็จะไม่สามารถขึ้นทะเบียนกับมหาวิทยาลัยได้ ไม่สามารถซื้อ พรบ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถได้ หากเกิดอุบัติเหตุขึ้นมาก็ย่อมเกิดปัญหาใหญ่ต่อนักศึกษาและผู้ใช้รถร่วมเส้นทาง
      2.5 ศูนย์บริการรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า จากการสำรวจข้อมูลพบว่าในอำเภอท่าศาลามีศูนย์บริการรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าเพียง 1 ร้านเท่านั้น และยังจำกัดการซ่อมเฉพาะยี่ห้อที่ตนเองเป็นผู้จัดจำหน่าย โดยรถหลายยี่ห้อกำหนดให้ผู้ซื้อรถต้องนำรถเข้ารับบริการตามรอบกับศูนย์บริการที่ได้รับการรับรองเท่านั้น รถจึงจะอยู่ในเงื่อนไขของการรับประกัน เท่ากับว่านักศึกษาที่ซื้อรถมา เมื่อถึงระยะการรับประกันนักศึกษาต้องนำรถไปเข้าศูนย์บริการในจังหวัดหรือพื้นที่ที่ศูนย์บริการตั้งอยู่เท่านั้น
      2.6 ความปลอดภัยในการใช้งาน มาตรฐานของกรมการขนส่งทางบกระบุว่า รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าที่จดทะเบียนได้ ต้องทำความเร็วสูงสุดมากกว่า 45 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และมีแรงขับเคลื่อนมอเตอร์ไม่ต่ำกว่า 0.25 กิโลวัตต์หรือ 250 วัตต์ ซึ่งหากมหาวิทยาลัยจะใช้เหตุผลว่าจะกำหนดให้ใช้จักรยานยนต์ไฟฟ้าเนื่องจากทำความเร็วได้น้อยกว่าจักรยานยนต์ใช้น้ำมัน ซึ่งจะทำให้ปลอดภัยกว่า ย่อมย้อนแย้งต่อหลักความเป็นจริงว่า หากเป็นรถที่ทำความเร็วได้น้อยก็ไม่สามารถจดทะเบียนได้ ไม่สามารถซื้อ พรบ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถได้ หากต้องการให้มีความปลอดภัยจริงควรที่จะกวดขันวินัยจราจร กำหนดบทลงโทษที่เข้มงวด และรณรงค์ให้นักศึกษาตระหนักถึงความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนมากกว่าการบังคับใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า
      นักศึกษาและองค์การนักศึกษา ทราบถึงความปรารถนาดีของมหาวิทยาลัยโดยท่านอธิการบดีเป็นอย่างดีว่าท่านมีความปรารถนาดีและห่วงใยต่อลูก ๆ นักศึกษาทุกคน แต่การบังคับใช้มาตรการนี้โดยทันทีโดยไม่ได้ศึกษาถึงผลกระทบอย่างรอบด้าน และไม่มีสิ่งสนับสนุนพื้นฐานในการดำเนินการให้เป็นไปตามข้อบังคับดังกล่าว จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อนักศึกษา ทั้งด้านเศรษฐกิจ ความปลอดภัย และการใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัย
      องค์การนักศึกษา อันประกอบด้วย สภานักศึกษาและองค์การบริหาร องค์การนักศึกษา ในฐานะตัวแทนของนักศึกษามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จึงขอเรียนมาเพื่อขอให้ท่านอธิการบดี ได้โปรดพิจารณาทบทวนการบังคับใช้ประกาศดังกล่าว ศึกษาผลกระทบ สร้างสิ่งสนับสนุนพื้นฐานที่ทำให้เกิดความมั่นใจในการใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าให้พร้อม รณรงค์และเชิญชวนให้นักศึกษาหันมาใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าให้มากขึ้น และหากทุกอย่างมีความพร้อมแล้ว ทั้งในระดับของผู้ผลิต ผู้ให้บริการ ศูนย์ซ่อมบำรุง มหาวิทยาลัย หรือความเข้าใจของนักศึกษาผู้ใช้งานแล้ว จึงอาจจะค่อยบังคับให้มีการใช้อย่างจริงจังต่อไป
      จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาสภานักศึกษา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์และ องค์การบริหาร องค์การนักศึกษา